วิธีใช้ “เงินเด็ก” แอปพลิเคชันโอนเงินอุดหนุนบุตร ผ่านมือถือ
วิธีใช้ “เงินเด็ก” แอปพลิเคชันโอนเงินอุดหนุนบุตร ผ่านมือถือ โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ช่วยบริการ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กสามารถเข้าถึง เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ได้สะดวก ไปดูวิธีการลงทะเบียน และการใช้แอปฯใหม่พร้อมกัน
กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ “เงินเด็ก” เป็นการยกระดับงานบริการแก่ประชาชน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กสามารถเข้าถึง เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด หรือ เงินอุดหนุนบุตร ได้ให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตรวจสอบง่าย
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” ยังสามารถช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อลงทะเบียนและติดต่อข้อมูล ลดจำนวนเอกสาร ส่งเอกสารด้วยระบบไฟล์ ลดปัญหาการบันทึกข้อมูลผิดพลาด แก้ไขข้อมูลด้วยตนเอง และมีระบบแจ้งเตือนตรวจสอบสถานะสิทธิได้ทันที
ข้อดีที่ต้องโหลด แอปพลิเคชัน “เงินเด็ก”
- ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
- ป้องกันการบันทึกข้อมูลผิดพลาด
- พร้อมมีระบบแจ้งเตือนสิทธิ
- ตรวจสอบสถานะได้ทันที
แอปพลิเคชัน “เงินเด็ก” มี 6 เมนูหลัก ประกอบด้วย
- เมนูลงทะเบียน
- เมนูติดตามสถานการณ์รับเงิน
- เมนูขอเปลี่ยนแปลงสิทธิ
- เมนูตรวจสอบสิทธิ
- เมนูติดต่อสอบถาม
- เมนูประเมินความพึงพอใจ
วิธีการลงทะเบียนต้องพิสูจน์ตัวตนในครั้งแรก
- ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต
- ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น D.DOPA
- ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนผ่านแอปพลิชัน เงินเด็ก พร้อมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้อง
เอกสารที่ใช้ ณ หน่วยลงทะเบียน
- แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- สูติบัตรเด็กแรกเกิด
- บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card ของผู้ปกครอง
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท
- สำเนาเอกสาร หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- บัตรหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงสถานะหรือตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นเงินเด็ก
- ระบบ IOS ดาวน์โหลดผ่าน App Store
- ระบบ Android ดาวน์โหลดผ่าน Play Store
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน ดังนี้
- ทางเว็บไซต์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน
- หรือโทร. 08 2091 7245, 08 2037 9767 และ 06 5731 3199
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง